ทุ่ม 2.4 พันล้านผุดโปรเจ็กต์ยักษ์”สวนลุมไนท์บาซาร์รัชดา”เกาะแนวรถไฟฟ้าใต้ดิน บูมทำเลรัชดาฯ-ลาดพร้าว


“ไพโรจน์ ทุ่งทอง” เจ้าพ่อสวนลุมไนท์บาซาร์ ผนึกเครือญาติทุ่ม 2,400 ล้าน เช่าที่การรถไฟฯ 22 ปี ดันโปรเจ็กต์ใหม่ทำเลทองเกาะแนวรถไฟฟ้าใต้ดิน “สวนลุมไนท์บาซาร์รัชดาภิเษก” ออกแบบครบวงจรทั้งโรงแรม-อพาร์ตเมนต์-ที่จอดรถ-ซูเปอร์มาร์เก็ต 24 ชั่วโมง คาดตอกเสาเข็ม ก.พ.นี้ รองรับย้ายผู้ค้าจากสวนลุมฯ 2,800 ราย ภายใน 2 ปี เชื่อช่วยบูมทำเลย่านรัชดาฯ-ลาดพร้าว แจงปัญหาสวนลุมไนท์บาซาร์กับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ขณะนี้อยู่ระหว่างขออุทธรณ์จากศาล ยังไม่มีการตัดสิน

นายไพโรจน์ ทุ่งทอง ประธานบริหาร บริษัท แบงค็อกไนท์บาซาร์ จำกัด ผู้บริหารโครงการสวนลุมไนท์บาซาร์รัชดาภิเษก เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในเร็ว ๆ นี้จะเปิดตัวโครงการสวนลุมไนท์บาซาร์บนถนนรัชดาภิเษก เนื้อที่กว่า 30 ไร่ มูลค่าโครงการ 2,400 ล้านบาท แนวคิดโครงการออกแบบเป็นทั้งแหล่งช็อปปิ้ง ที่อยู่อาศัย และโรงแรม ปัจจุบันโครงการผ่านการจัดทำการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการขออนุญาตก่อสร้างจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) คาดว่าจะได้ใบอนุญาตภายในเดือนมกราคม และเริ่มก่อสร้างได้ในเดือนกุมภาพันธ์นี้

“โปรเจ็กต์นี้ผมร่วมกับเครือญาติที่ได้สิทธิเช่าที่ดินจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ทำเลที่ดินติดริมถนนตั้งแต่สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสถานีรัชดาภิเษก ยาวมาตลอดจนถึงแปลงอยู่ติดกับศาลอาญา”

นอกจากนี้ยังมีที่ดินแปลงที่เป็นสิทธิการเช่าของบริษัท กฤตวณิชย์ จำกัด เดิมมีบริษัท กฤษดามหานคร จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นใหญ่ ปัจจุบันนายไพโรจน์ได้ซื้อหุ้นมาหมดแล้ว เป็นเงิน 700 ล้านบาท อายุสัญญาเช่าเหลือ 22 ปี เท่ากับกลุ่มนายไพโรจน์มีที่ดินเช่าจาก ร.ฟ.ท.ทั้งหมด 5 แปลง แบ่งเป็นแปลงที่ร่วมทุนกับเครือญาติเช่ามา 3 แปลง แปลงที่สวมสิทธิ์โดยการซื้อหุ้นบริษัทกฤตวณิชย์ 1 แปลง และแปลงที่เป็นสิทธิการเช่าของนายไพโรจน์ 1 แปลง อยู่ด้านหลังบริเวณที่ดินแปลงที่ทำเป็นตลาดไนท์รัชดาทุกวันเสาร์ รวมเนื้อที่ทั้งหมด 33 ไร่ โดยมีนายไพโรจน์เป็นผู้บริหารโครงการทั้งหมด

นายไพโรจน์กล่าวว่า รูปแบบการพัฒนาแม้ที่ดินจะมี 5 แปลง แต่คอนเซ็ปต์การพัฒนาจะเป็นโมเดลเดียวกัน เสมือนเป็นที่ดินผืนเดียวกัน แนวคิดการพัฒนาโครงการจะเน้นทำครบวงจร แบ่งการพัฒนาเป็น 2 เฟส โดยเฟสแรกหลังจากได้ใบอนุญาตก่อสร้างแล้ว จะพัฒนาเป็นพลาซ่าสำหรับรองรับลูกค้าที่จะย้ายจากสวนลุมไนท์บาซาร์เดิมจำนวน 2,800 ราย คาดว่าใช้เวลาก่อสร้าง 2 ปี รวมถึงรองรับผู้ค้าตลาดไนท์บาซาร์วันเสาร์ริมถนนลาดพร้าวด้วย และเนื่องจากสวนลุมไนท์บาซาร์รัชดาภิเษก มีพื้นที่กว้างขวางกว่าเดิม ดังนั้นคาดว่าจะมีพื้นที่เหลืออีกประมาณ 10% รองรับกับกลุ่มผู้ค้ารายใหม่ที่ต้องการเช่าพื้นที่

“หลังจากนั้นอีก 6 เดือน เป็นเฟสสอง แนวคิดโครงการออกแบบเป็นที่อยู่อาศัย มีโครงการโรงแรมระดับ 4 ดาว สูง 16 ชั้น จำนวน 300 กว่าห้อง อยู่บริเวณแยกรัชดาฯ-ลาดพร้าว โครงการอพาร์ตเมนต์ให้เช่า สูง 8 ชั้น 4 อาคาร จำนวน 2,000 ห้อง ค่าเช่าประมาณ 7,000-8,000 บาท/เดือน โดยชั้น 1-4 จะเป็นส่วนพลาซ่าและที่จอดรถ จากนั้นเป็นห้องพักให้เช่า ซึ่งแต่ละตึกจะมีทางเชื่อมเดินถึงกันได้”

นายไพโรจน์กล่าวอีกว่า สำหรับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเป็นต่างชาติและคนไทยที่ทำงานกลางวัน กลางคืน และนักศึกษา ย่านรัชดาฯ สุขุมวิท ลาดพร้าว เป็นต้น เนื่องจากทำเลอยู่ในแนวรถไฟฟ้าใต้ดิน การเดินทางสะดวกและรวดเร็ว นอกจากนี้จะมีซูเปอร์มาร์เก็ตเปิดตลอด 24 ชั่วโมง จะอยู่บริเวณที่จอดรถสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินลาดพร้าวอีกด้วย

“ส่วนพื้นที่ที่เช่าจากเอกชนอีก 5 ไร่ ซึ่งเพิ่งเช่าเมื่อปี 2552 ระยะเช่า 30 ปี ผมจะทำเป็นที่จอดรถสูง 8 ชั้น จอดรถได้ 3,500 คัน สำหรับไว้รองรับคนมาใช้บริการตลาดไนท์บาซาร์”

นายโพโรจน์กล่าวว่า สำหรับปัญหาสวนลุมไนท์บาซาร์กับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างขออุทธรณ์จากศาล ยังไม่มีการตัดสิน แต่เพื่อไม่เป็นการลอยแพลูกค้าเก่าที่สวนลุมฯ จึงได้ตัดสินใจพัฒนาโครงการนี้ขึ้นมา

“จริง ๆ ผมเลิกพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มา 3-4 ปีแล้ว ความตั้งใจเดิมของผมจะทำอพาร์ตเมนต์ให้เช่าอย่างเดียวก็พอ เพื่อเป็นรายได้ในระยะยาวไว้ให้ลูกให้หลาน แต่เมื่อมีปัญหาของสวนลุมไนท์บาซาร์จึงต้องปรับรูปแบบการพัฒนาใหม่ เพื่อย้ายลูกค้าจากสวนลุมฯมาที่รัชดาภิเษกแทน เงินทุนมาจาก 2 ส่วน คือทุนส่วนตัว 1,400 ล้านบาท ที่เหลือกู้จากแบงก์” นายไพโรจน์กล่าวตอนท้าย

วันที่ 06 มกราคม พ.ศ. 2553 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์