เอกซเรย์ “ธุรกิจ-ร้านค้า” ทำเลรถไฟฟ้าสายสีม่วง “กรุงเทพ-นนทบุรี” รายได้วูบ 50%


การประกาศก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางซื่อ-บางใหญ่ ระยะทาง 23 กิโลเมตร แม้จะเป็นข่าวดี แต่อีกมุมหนึ่งก็เป็นทุกขลาภ ทั้งของชาวเมืองนนท์และคนกรุงเทพฯ เพราะต้องทนรับสภาพปัญหาการจราจรติดขัดตลอดช่วงเวลาที่มีการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้า อย่างน้อยก็ 3 ปีครึ่งนับจากนี้ไป ซ้ำร้ายหลังรถไฟฟ้าสายนี้เปิดบริการในปี 2557 บางทำเลยังเจอแจ็กพอตปัญหารถติดแบบถาวร

โดยเฉพาะถนนกรุงเทพ-นนทบุรี ที่เดิมมี 6 ช่องจราจร เมื่อมีการก่อสร้างตอม่อรถไฟฟ้า ช่องจราจรตลอดแนวเส้นทางจะเหลือเพียงแค่ 4 ช่องจราจร ขณะที่พื้นที่อื่นอย่างถนนรัตนาธิเบศร์และติวานนท์ที่มีช่องจราจรมากกว่าจะมีปัญหาน้อยกว่า

ล่าสุด การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ประกาศเป็นทางการว่าจะปิดการจราจรบริเวณเกาะกลางถนนกรุงเทพ-นนทบุรี ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2553 เป็นต้นไป เพื่อให้ผู้รับเหมาสัญญาที่ 1 กลุ่มกิจการร่วมค้า CKTC (ช.การช่าง-โตคิว) ติดตั้งแนวกั้นพื้นที่เพื่อก่อสร้างโครงสร้างยกระดับจากเตาปูน-สะพานพระนั่งเกล้า ระยะทาง 12 กิโลเมตร รวม 8 สถานี

โดยการปิดการจราจรตั้งแต่ตลาดบางซ่อนถึงกรุงเทพ-นนทบุรี ซอย 27 จากนั้นทยอยปิดการจราจรไปเรื่อย ๆ ครั้งละ 200 เมตร จนถึงแยกเตาปูน

ขณะที่ตำรวจจราจรออกประกาศข้อบังคับให้เจ้าพนักงานจราจรห้ามหยุดหรือจอดรถตลอดเวลาทั้งสองฝั่งถนนกรุงเทพ-นนทบุรี เป็นการถาวร ช่วงแรกเริ่มจากสามแยกเตาปูน-แยกวงศ์สว่าง ตั้งแต่วันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา จากนั้นเดือนมิถุนายนนี้จะปิดช่วงแยกวงศ์สว่าง-แยกติวานนท์

“พล.ต.ต.ภาณุ เกิดลาภผล” รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) ดูแลด้านการจราจร กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ถนนกรุงเทพฯ-นนทบุรี น่าห่วงกว่าจุดอื่น ๆ ทั้งรัตนาธิเบศร์, ติวานนท์ เพราะ 2 เส้นทางนี้ เมื่อก่อสร้างเสร็จจะคืนผิวจราจรได้ แต่กรุงเทพ-นนทบุรี คืนช่องจราจรให้ไม่ได้ เพราะเกาะกลางถนนไม่มี และปัจจุบันแคบอยู่แล้ว ประเมินแล้วน่าจะทำให้การจราจรวิกฤตกว่าเดิมมาก เพราะในช่วงเร่งด่วนเช้า-เย็น ปริมาณการจราจรหนาแน่นมากอยู่แล้ว

“ที่หนักสุดคือร้านค้าตามริมทางจะได้รับผลกระทบมาก เพราะจะห้ามจอดตลอด 2 ข้างทาง ป้องกันไม่ให้รถติด จะทำให้การค้าขายลำบากขึ้น เพราะบางร้านไม่มีที่จอดรถหน้าร้านสำหรับลูกค้า วิถีชีวิตของคนแถวนั้นจะเปลี่ยนไปทันที” รอง ผบช.น.กล่าว

อานิสงส์คนทำงาน-ค้าขายกระทบหนัก

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” สำรวจเส้นทางกรุงเทพ-นนทบุรี ตั้งแต่แยกเตาปูนจนถึงแยกวงศ์สว่าง ระยะทาง 4-5 กิโลเมตร จุดที่คาดว่าการจราจรจะวิกฤตหลังมีการก่อสร้างรถไฟฟ้า พบว่าทั้งชาวบ้าน ร้านค้า ร้านเฟอร์นิเจอร์ ธนาคารพาณิชย์ ฯลฯ ต่าง คาดการณ์เหมือนกันว่าจะส่งผลกระทบการทำมาหากินแน่นอน เพราะนอกจากถนนจะแคบลงแล้ว ตำรวจออกข้อบังคับห้ามจอดตลอด 2 ฝั่งถนน เท่ากับซ้ำเติมความเดือดร้อนมากขึ้น

ก่อนหน้านี้ชาวบ้านย่านกรุงเทพ-นนทบุรีเคยรวมตัวคัดค้าน รฟม.มาแล้ว เพราะต้องการให้ก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินแทนการสร้างแบบยกระดับ แต่ไม่เป็นผล รฟม.แจ้งว่าค่าก่อสร้างใต้ดินจะแพงกว่ามาก

“สมศรี แซ่ตั้ง” อายุ 40 ปี แม่ค้าร้านหนังสือ มองว่ารถไฟฟ้าสายนี้ดีสำหรับคนทำงาน แต่คนทำมาหากินจะเดือดร้อน ต่อไปคนลงมาซื้อหนังสือที่ร้านไม่ได้แล้ว เพราะตำรวจห้ามจอด แถมรถติด

เช่นเดียวกับ “เจ้าของร้านนิวกิ๊ดกี่โภชนา” ขายบะหมี่เป็ดย่าง หมูแดง หมูย่าง ซึ่งเปิดร้านมาร่วม 40 ปี บอกว่า รายได้อาจจะลดลงถึง 50% เพราะไม่มีที่จอดรถให้ลูกค้า

ขณะที่ “กฤษณะ เวทีบูรณะ” เจ้าของร้านทองกนกศิลป์ ประเมินว่า จะได้รับผลกระทบไม่แตกต่างกัน จากสภาพจราจรที่ติดขัดมากขึ้น และลูกค้าจอดหน้าร้านเหมือนเดิมไม่ได้ จะซบเซาคล้ายกับย่านสะพานควายที่ก่อสร้างรถไฟฟ้าบีทีเอส แต่ยังไม่ย้ายไปไหน ขอรอดูสถานการณ์ก่อน

วัสดุ-แบงก์-เฟอร์นิเจอร์ ยอดขายวูบ 50%

“ประภาศรี เทพาพงศ์” เจ้าของร้านวัสดุก่อสร้าง ช.โลหภัณฑ์ ซึ่งเปิดให้บริการมา 30 ปี เป็นอีกรายหนึ่งที่หนักใจเรื่องที่จอดรถขนวัสดุก่อสร้าง จากการประกาศห้ามจอดรถ 2 ข้างทางตลอดแนวถนนแบบถาวร

ไม่ต่างไปจาก “บรรจง สุรวัฒน์ปัญญา” ร้านรับตัดและขายรองเท้าหนัง มองว่า รายได้บางส่วนคงหายไปแน่นอน แต่จะประเมินหลังรถไฟฟ้าสร้างเสร็จอีก 3-4 ปีข้างหน้าอีกครั้ง เพราะสถานีเตาปูนเป็นสถานีชุมทาง คนอาจจะคึกคักมากขึ้น

ด้านเจ้าของ “กรุงเทพง่วนเฮงเล้ง” ซึ่งเปิดห้องแถว 4 คูหาขายวัสดุก่อสร้างมากว่า 50 ปี มองว่า ธุรกิจในย่านนั้นคงเจ๊งแน่ ที่อยู่ได้คือหอพักและอพาร์ตเมนต์

“สุมาลี นาวีเรืองรัตน์” เจ้าของ หจก.แพนยูเนี่ยน อิมปอร์ต เอ็กซ์ปอร์ต ผู้นำเข้าอุปกรณ์เฟอร์นิเจอร์จากต่างประเทศ ในเครือ LACASA บอกว่า ร้านเปิดมากว่า 10 ปี ต้องยอมทำใจยอมรับสภาพที่จะเกิดขึ้น เพราะประเมินแล้ว น่าจะส่งผลกระทบยอดขายถึง 50% เพราะลูกค้าใช้เวลานานในการเลือกซื้อสินค้า เมื่อหาที่จอดรถให้ลูกค้าไม่ได้ ลูกค้าอาจจะไม่เข้าร้าน กำลังดูว่าจะหาทางออกอย่างไร

ส่วน “ฐิตารีย์ วงศ์ตะณานนท์” ผู้ช่วยเจ้าของร้านมีพร้อมเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งเพิ่งย้ายร้านมาเปิดบริการประมาณปีเศษ คาดว่า ยอดขายจะหายไป 30% ดังนั้น ช่วง 3-4 ปีจากนี้ไป ธุรกิจในทำเลกรุงเทพ-นนทบุรีโดยรวมจะซบเซา อาจต้องมีโปรโมชั่นจูงใจลูกค้า มาเข้าร้านมากขึ้น แต่มองในแง่ดีว่า ต้องรอดูหลังรถไฟฟ้าเสร็จ อาจจะดีขึ้น เพราะการเดินทางจะสะดวกขึ้น

ย้ายฐานหนีเดดล็อกปัญหาจราจร

ทำให้ผู้ประกอบการบางส่วนเริ่มปรับแผนรองรับ โดย “ประเสริฐ ธนาคีรี” เจ้าของร้าน ว.วิเชียรอะไหล่ยนต์ ขายอะไหล่รถยนต์มือสอง กล่าวว่า อีก 2-3 เดือนจะย้ายร้านไปอยู่ย่านบางบัวทอง เพราะดูแล้ว ถนนเส้นนี้ธุรกิจคงซบเซาลงแน่ ๆ

ขณะที่ผู้ประกอบการร้านวัสดุก่อสร้าง ต.ยิ่งเจริญซัพพลาย บริเวณตรงข้ามสถานีตำรวจนครบาลเตาปูน ซึ่งไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลลงทุนก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงในพื้นที่นี้อยู่แล้ว มองว่า การประกาศห้ามจอดรถตลอดแนวเส้นทางจะสร้างความไม่พอใจมากขึ้น โดยเฉพาะคำสั่งล่าสุดที่ไม่ให้ผู้ขับขี่รถยนต์จอดซื้อสินค้าได้เหมือนเดิม

รถไฟฟ้าเริ่มตอกเสาเข็มก่อสร้างเมื่อไหร่ เสียงสะท้อนจากผู้ที่ได้รับผลกระทบก็น่าจะมีเพิ่มขึ้นอีก

วันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 33 ฉบับที่ 4195 ประชาชาติธุรกิจ